สวัสดีครับ มาพบกันอีกแล้วนะครับหลังจากหายไปนานเลย เนื่องจากงานยุ่งมาก ๆ ครับ ฮ่า ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผมได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับ SMEs และบริษัทต่าง ๆ มากว่า 10 ปี มีผู้ประกอบการหลายรายได้เข้ามาปรึกษาปัญหากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การแบ่งผลประโยชน์กันระหว่างหุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์ การตั้งบริษัท การทำสัญญาให้บริการหรือสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเอง การจ้างผู้อื่นให้ทำงานในรูปแบบการจ้างแรงงานและการจ้างทำของ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงการฟ้องร้องดำเนินคดี (ฟ้องคนอื่น หรือว่าโดนคนอื่นฟ้อง) ในเรื่องต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งกฎหมายอาญา
โดยในหลาย ๆ ครั้ง ปัญหาที่เอามาปรึกษาผมสามารถแก้หรือป้องกันได้ง่าย ๆ หากมีความรู้ด้านกฎหมายพื้นฐานติดตัวเอาไว้ ในวันนี้ผมเลยถือโอกาสนำเอาประสบการณ์และความรู้ด้านกฎหมายมาแบ่งปันกับผู้อ่านกันนะครับ
กฎหมายอะไรบ้างที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจควรรู้?
อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้ตอนต้นครับว่า การประกอบธุรกิจไม่ว่าในอุตสาหกรรมใด ๆ หรือในธุรกิจแนวไหน ไม่ว่าออนไลน์ หรือออฟไลน์ ทุกคนก็ต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งนั้น และแม้ว่าคุณไม่อยากจะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่กฎหมายก็อยากเกี่ยวข้องกับคุณ ฮ่าๆ ฉะนั้น ถ้าเราหนีไม่ได้ ทำไมไม่ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจจะได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข
นอกจากกฎหมายที่เป็นเรื่องเฉพาะสำหรับแต่ละธุรกิจ เช่น พรบ. ขนส่ง สำหรับธุรกิจขนส่ง กฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก กฎหมายเกี่ยวกับร้านอาหาร เป็นต้น จะมีกฎหมายอยู่กลุ่มนึงที่ทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรมต้องเจอเหมือน ๆ กันนั่นก็คือกฎหมายดังต่อไปนี้ครับ
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย
- บริษัทจำกัด
- นิติกรรม สัญญา
- ตัวการ ตัวแทน
- ความรับผิดในทางละเมิดของลูกจ้าง
- พรบ. คุ้มครองแรงงาน
- กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
- พรบ. สิทธิบัตร
- พรบ. เครื่องหมายการค้า
- พรบ. ลิขสิทธิ์
- พรบ.ความลับทางการค้า
ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ต่างก็ออกแบบมาคนละวัตถุประสงค์ และครอบคลุมแง่มุมต่าง ๆ ของธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบริษัทจำกัด ก็จะเป็นกฎหมายที่พูดถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป รวมถึงความสัมพันธ์ของคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ถือหุ้นและกรรมการ ของนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หรือกฎหมายแรงงานก็จะว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เป็นต้น และหลายๆ กฎหมายก็กำหนดโทษเอาไว้สำหรับผู้ที่ไม่ปฎิบัติตามหรือฝ่าฝืนอีกด้วยนะครับ
เพราะฉะนั้น การดำเนินธุรกิจโดยที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจกฎหมายเลย ย่อมที่จะทำให้ท่านเสียประโยชน์มากกว่าได้ประโยชน์แน่นอนครับ แต่อย่างไรก็ดี ที่ผมกล่าวมาไม่ได้หมายความว่าจะให้ท่านต้องรู้กฎหมายเท่ากับทนายความนะครับ เพียงแต่ต้องทราบเอาไว้เพื่อให้ตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังจะทำ หรือวางแผนจะทำได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้มากเลยครับ
สำหรับในวันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักเบื้องต้นกับบรรดากฎหมายที่กล่าวเอาไว้ด้านบนคร่าว ๆ นะครับ และเราจะนำเอาเนื้อหารายละเอียดของกฎหมายแต่ละตัวมาย่อยให้ท่านเสพย์กันได้ในลิ้งก์ของแต่ละตอนด้านล่างนี้นะครับ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบริษัทจำกัด
บริษัทจำกัดเป็นนิติบุคคล (บุคคลที่เกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมาย) ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทยครับ ด้วยเหตุที่จำกัดความรับผิดของผู้ถือหุ้นต่อเจ้าหนี้ของบริษัทเพียงเท่าราคาหุ้นที่ยังไม่ได้ชำระให้แก่บริษัทเท่านั้น นั่นก็หมายความว่า ถ้าเป็นหุ้นประเภทที่ชำระค่าหุ้นเต็มจำนวนแล้ว ก็ไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทนั้นอีก
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบริษัทจำกัด คือ กฎหมายที่กล่าวถึงการเกิดขึ้น (เงื่อนไขต่าง ๆ ในการจดทะเบียนตั้งบริษัท) ตั้งอยู่ (การดำเนินกิจการ การควบคุมบริษัท คณะกรรมการ) และดับสูญไป (การเลิกกิจการ) ของบริษัทจำกัด นอกจากนี้ยังเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ สิทธิ และหน้าที่ ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจำกัด เช่น ผู้ก่อการ ผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัท เป็นต้น
โดยหลักแล้วการดำเนินการใด ๆ ของบริษัทจำกัดจะต้องเป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นได้กำหนดเอาไว้ หากทำนอกเหนือไปจากนั้น ผู้เป็นกรรมการบริษัทก็อาจมีความเสี่ยงที่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นมาได้ โดยที่มติแต่ละอย่างก็มีเงื่อนไขในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นที่แตกต่างกันออกไป ถ้าหากทำไม่ครบเงื่อนไข มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็จะไม่มีผลตามกฎหมายได้
หากท่านในฐานะผู้ประกอบการไม่รู้ หรือไม่เข้าใจว่าเงื่อนไขเหล่านี้คืออะไร ทำอย่างไร ก็จะก่อให้เกิดความยุ่งยากและความเสียหายเกิดขึ้นกับธุรกิจของท่านได้นะครับ เพราะการกระทำอะไรก็ตามที่ทำลงไปตามมติที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจมีผลเป็นโมฆะ หรือก็ให้เกิดความรับผิดของกรรมการบริษัทได้ครับ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
ในการดำเนินธุรกิจทุกอย่างย่อมต้องมีการเข้าไปมีปฎิสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ว่าจะเป็นลูกค้าซึ่งในความสัมพันธ์เหล่านี้ในทางกฎหมายเราเรียกว่า “นิติกรรมและสัญญา” ครับ หลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจผิดว่า การที่จะเป็นนิติกรรมหรือสัญญาได้นั้น จะต้องมีการเขียนเป็นหนังสือขึ้นมา
แต่ในความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นน่ะสิครับ เพราะกฎหมายกำหนดให้เฉพาะนิติกรรมสัญญาบางประเภทเท่านั้นที่จะต้องมีการทำเป็นหนังสือ เช่น สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญากู้ยืมเงิน เป็นต้น และนิติกรรมส่วนมากหรือที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป เช่น การจ้างแรงงาน กฏหมายก็ไม่ได้มีกำหนดว่า จะต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด เพียงแต่มีเงื่อนไขครบถ้วนตามกฎหมายก็เพียงพอให้ใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาครับ
นิติกรรม คือ การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและมุ่งต่อผลในกฎหมาย ที่จะเกิดขึ้นเพื่อการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ สงวนสิทธิ และระงับซึ่งสิทธิ นิติกรรมเป็นได้ทั้งนิติกรรมฝ่ายเดียว เช่น การปลดหนี้ให้แก่ลูกนี้ ที่เจ้าหนี้สามารถแจ้งปลดหนี้ได้คนเดียวไม่ต้องให้ลูกหนี้ตกลงหรือยินยอมด้วย หรือพินัยกรรมที่เจ้ามรดกทำได้คนเดียว และนิติกรรมสองฝ่าย เช่น การซื้อขาย ที่ต้องมีทั้งฝ่ายผู้ซื้อและฝ่ายผู้ขาย (ถ้าฝ่ายเดียวจะซื้อจากใคร หรือขายให้ใครล่ะ เออ)
อย่างไรก็ดี หากท่านทำธุรกิจและเริ่มมีลูกค้าหลายราย บรรดาข้อตกลงต่าง ๆ ที่ได้เคยคุยเอาไว้กับลูกค้าแต่ละรายก็อาจจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับการเจรจากับลูกค้า หรือคู่ค้าแต่ละราย พอเวลาผ่านไปนานก็อาจจะมีการลืม หรือในกรณีที่มีลูกจ้างที่ไปเจรจาแทน ผู้ประกอบการเองก็จำเป็นต้องมั่นใจว่า ข้อตกลงต่าง ๆ เป็นไปอย่างที่ต้องการ ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ
การที่ผู้ประกอบการไม่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อกันเอาไว้ก็จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจเพราะไม่รู้ว่าไปตกลงอะไรกันเอาไว้ เมื่อไหร่ ที่ไหนการทำสัญญาเป็นหนังสือฉบับเดียว และลงลายมือชื่อคู่สัญญาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจของท่านราบลื่น และลดความเสี่ยงในการผิดสัญญา หรือลืมข้อตกลงที่ได้มีต่อกันเอาไว้ได้ในอนาคตครับ
เช่นนี้ หากผู้ประกอบการไม่ได้มีความรู้ว่า นิติกรรมหรือสัญญาแบบใดต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ต้องมีให้ครบ ก็จะมีความเสี่ยงที่ทำสัญญาไปแล้ว เกิดปัญหาเรื่องการฟ้องร้อง หรือไม่สามารถบังคับใช้ได้ด้วยเหตุที่สัญญาตกเป็นโมฆะ หรือถูกบอกล้างได้กรณีตกเป็นโมฆียะ ครับ
เป็นยังไงกันบ้างครับกับเนื้อหาของกฎหมายที่ท่านควรรู้ ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายเลยใช่มั้ยครับอันนี้ท่านสามารถติดตามตอนที่ 2 ของเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายที่ผู้ประกอบการควรทราบได้ด้านล่างนี้เลยครับ
กฎหมายที่ผู้ประกอบการควรรู้ตอนที่ 2
อย่าลืมกดรับข่าวสารกันนะครับ
การทำธุรกิจเป็นเรื่องยาก และความรู้เป็นเรื่องสำคัญครับ หากท่านเป็นผู้ประกอบการและอยากที่จะอัพเดตและเสริมความรู้ด้านกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เรามีเนื้อหาดี ๆ ส่งถึงมือท่านทุกสัปดาห์เพียงใส่อีเมลรับข่าวสารด้านล่างนี้ครับผม