ลงทะเบียนบัตรประชาชนดิจิทัลง่ายนิดเดียว!

ลงทะเบียนบัตรประชาชนดิจิทัลง่ายนิดเดียว!

หลาย ๆ คนคงจะทราบกันแล้วใช่มั้ยครับว่า ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีความพยายามในการผลักดันการทำงานภาครัฐให้มีความทันสมัยและมีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยล่าสุดได้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่นั่นก็คือ “พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565” โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมามีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อราชการครับ

โดยหนึ่งในหน่วยงานที่นำร่องการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้คือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ให้บริการ “ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล” (DOPA-Digital ID) ซึ่งจะทำให้การติดต่อราชการและการเข้าถึงข้อมูลของตนเองทำได้สะดวกมายิ่งขึ้น และสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐอื่น ๆ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ลงทะเบียนแล้วมีประโยชน์อย่างไร?

โดยหากลงทะเบียนแล้วท่านสามารถที่จะเข้าถึงเอกสารสำคัญได้ 2 รายการภายในแอปพลิเคชั่น D.DOPA ได้เลยนั่นก็คือ

✅ บัตรประจำตัวประชาชน

✅ ทะเบียนบ้าน

เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว สามารถที่จะใช้แอปพลิเคชั่น D.DOPA แทนการแสดงตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน และ/หรือ ทะเบียนบ้านได้ทันที!! สะดวกมาก ๆ เลยนะครับ นอกจากการเข้าถึงเอกสารสำคัญทั้งสองอย่างแล้ว ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนเองในฐานข้อมูลภาครัฐอื่น ๆ ได้อีก เช่น ข้อมูลการฉีดวัคซีน ข้อมูลการถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจดทะเบียน (ช่น บ้าน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น) ผ่านทาง BORA Web Portal ของกรมการปกครอง โดยการเข้าถึงฐานข้อมูลจะต้องเข้าผ่านแอปพลิเคชั่น D.DOPA นะครับ

ขั้นตอนการลงทะเบียนแอปพลิเคชั่น D.DOPA

การลงทะเบียนทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ 5 นาที เริ่มต้นโดยการไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นจาก Google Play หรือ App Store มาก่อนนะครับ โดยแอปพลิเคชั่นจะมีหน้าตาตามด้านล่างครับ

จุดสังเกตุคือ ชื่อของหน่วยงานจะต้องเป็น “สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง” นะครับ เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่หน้าต่างการลงทะเบียน โดยสามารถเลือกได้ทั้งการลงทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่และการลงทะเบียนด้วยตนเองครับ โดยการลงทะเบียนทั้งสองแบบมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ครับ

ขั้นตอนการลงทะเบียนด้วยตนเอง

    1. เลือกหัวข้อลงทะเบียนด้วยตนเอง
    2. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล
    3. ถ่ายรูปหน้าบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสร็จแล้วให้ตรวจสอบความชัดเจนและกดปุ่มยืนยันหรือถ่ายใหม่
    4. ถ่ายรูปหลังบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสร็จแล้วให้ตรวจสอบความชัดเจนและกดปุ่มยืนยันหรือถ่ายใหม่
    5. ตรวจสอบข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน หากถูกต้องให้กดยืนยัน
    6. ถ่ายรูปภาพใบหน้าตนเอง
    7. ตั้งค่ารหัสผ่านเหมือนกัน 2 ครั้งโดยต้องไม่เรียงกัน และไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234, 1111
    8. ระบบแจ้งเตือนขอความยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรก
    9. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรูปบัตรประจำตัวประชาชน

ขั้นตอนการลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่

    1. เลือกหัวข้อลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่
    2. นำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียน
    3. ทำการเปิดแอปพลิเคชัน D.DOPA พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องโทรศัพท์มือถือ
    4. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล
    5. ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้ถูกต้อง
    6. แสกนลายพิมพ์นิ้วชี้กับเจ้าหน้าที่
    7. แสกน QR code บนหน้าจอของเจ้าหน้าที่ ด้วยแอพพลิเคชั่น D.DOPA
    8. ตั้งค่ารหัสผ่านเหมือนกัน 2 ครั้งโดยต้องไม่เรียงกัน และไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234, 1111
    9. ระบบแจ้งเตือนขอความยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรก
    10. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรูปบัตรประจำตัวประชาชน

เมื่อลงทะเบียนแล้วก็สามารถเข้าใช้งานได้ทันที โดยระบบจะมีเอกสารประจำตัวสำคัญมาให้ 2 รายการคือ บัตรประจำตัวประชาชน (ทั้งหน้าและหลัง) และทะเบียนบ้านครับ และนอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนเองจากหน่วยงานอื่น ๆ ได้อีก เช่น ข้อมูลการฉีดวัคซีน ข้อมูลการถือครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินจดทะเบียน (รถยนต์ รถจักรยานต์ หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น)

เป็นยังไงกันบ้างครับ สะดวกมาก ๆ เลยใช่มั้ยครับ ผมคิดว่า บริการนี้จะมีประโยชน์เป็นอย่างมากในอนาคตและจะช่วยทำให้การติดต่อราชการและการทำงานเป็นไปได้ด้วยความสะดวกมากยิ่งขึ้นไปอีกนะครับ ^^

หากท่านไม่อยากพลาดข่าวสารอัพเดตและความรู้ดี ๆ ด้านกฎหมาย ท่านสามารถที่จะสมัครรับจดหมายข่าวจากเราได้นะครับ จะมีเนื้อหาดี ๆ ส่งตรงถึงท่านเป็นประจำทุกอาทิตย์ตามแบบฟอร์มด้านล่างนี้เลยครับ

ลงทะเบียนรับจดหมายข่าว!

Newsletter subscriptionTH (#13)

เพราะเราเชื่อว่า “ทุกการเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นที่ความรู้” มาเรียนรู้ไปด้วยกันนะครับ