กฎหมายที่ผู้ประกอบการควรรู้และทำความเข้าใจ ตอนที่ 3

legal knowledge, business law.

สวัสดีครับทุกท่าน มาพบกันอีกแล้วนะครับกับตอนที่ 3 ของซีรี่ย์ “กฎหมายที่ผู้ประกอบการควรรู้และทำความเข้าใจ” ซึ่งใน 2 ตอนก่อนหน้านี้เราก็ได้พูดถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับ บริษัทจำกัด นิติกรรมสัญญา ตัวการ ตัวแทน และละเมิดในทางการที่จ้าง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของท่านผู้ประกอบการทุก ๆ ท่านเลยนะครับ หากใครยังไม่ได้อ่าน หรืออยากทบทวน สามารถตามไปอ่านได้ด้านล่างนี้เลยครับผม ^^

และเพื่อไม่ให้พลาดทุกการอัพเดตความรู้กฎหมายเพื่อผู้ประกอบการและข่าวสารต่าง ๆ ท่านสามารถสมัครรับข่าวสารได้ที่ด้านล่างนี้เลยนะครับ


Newsletter subscriptionTH (#13)

และถ้าใครพร้อมแล้วไปติดตามกันต่อในตอนที่ 3 ของซีรี่ย์ “กฎหมายที่ผู้ประกอบการควรรู้และทำความเข้าใจ” กันได้เลยครับผม ^^

law, business law, employment law

กฎหมายแรงงาน – พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

พรบ. คุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์การเกิดขึ้นและสิ้นสุดลงของการจ้างแรงงาน ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของผู้ที่เป็นลูกจ้างและนายจ้าง โดยเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้จะกล่าวถึงลักษณะการจ้างงานทั่วไป เช่น กำหนดชั่วโมงในการทำงาน เวลาพักในแต่ละวัน วันหยุด วันลา การเลิกจ้าง ประเภทของงาน ฯลฯ 

โดยนายจ้างและลูกจ้างจะกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ แตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนด เช่น กำหนดวันหยุดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้นะครับ หากกำหนดเป็นการแตกต่างจะถือว่าข้อกำหนด หรือสัญญาในส่วนนั้นเป็นโมฆะ (ไม่มีผลบังคับใช้) ทันทีครับ อย่างไรก็ดี นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงในสิ่งที่นอกเหนือไปจากที่กฎหมายกำหนดได้ แต่ต้องไม่ขัดกับที่กฎหมายกำหนด เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การรักษาความลับของนายจ้าง ค่าตอบแทนพิเศษ (เงินรางวัล ค่าคอมมิชชั่น หรือการให้หุ้นเพื่อจูงใจการทำงาน เป็นต้น)

ดังนี้ ผู้ประกอบการทั้งหลายในฐานะนายจ้างจึงต้องระวังในเรื่องของข้อกำหนดของกฎหมายแรงงาน และสัญญาจ้างแรงงานให้ดีด้วยนะครับ หากสัญญาไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือปฎิบัติผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดนอกจากจะบังคับใช้ไม่ได้แล้ว ยังอาจจะนำไปสู่ความรับผิดของตัวท่านเอง (ซึ่งตามกฎหมายมีโทษถึงจำคุก) ในฐานะกรรมการของบริษัทที่เป็นนายจ้างอีกด้วยนะครับ

Personal data law, PDPA for business

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

เป็นเรื่องจริงที่ปฎิเสธไม่ได้นะครับว่า ในโลกแห่งการทำธุรกิจในปัจจุบันย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจต่าง ๆ จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเก็บรวบรวม (ข้อมูลผู้สมัครงาน ข้อมูลของลูกค้า ข้อมูลของผู้ให้บริการ) การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ (ประกอบการทำสัญญา การพิจารณาจ้างงาน การติดต่อสื่อสารในด้านการตลาดกับลูกค้า) การเปิดเผยข้อมูล (การสร้างให้คนอื่นทำการตลาด การทำงานร่วมกับ partner  ต่างๆ) เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า กระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลนับตั้งแต่การเก็บรวบรวม การนำไปใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูล ผู้ประกอบการทุกท่านจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด หรือในกรณีที่ลูกจ้างของผู้ประกอบการไม่รู้ 

หรือไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดก็อาจทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง เพราะกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีโทษทั้งทางแพ่ง (ค่าเสียหาย) และทางอาญา (จำคุกหรือปรับ) โดยโทษปรับในบางกรณีของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสูงถึง 1 ล้านบาทเลยทีเดียวนะครับ

ความเข้าใจผิดอีกประการหนึ่งของผู้ประกอบการทั้งหลายเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั่นก็คือ เพียงแค่จะทำเอกสาร เช่น นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือหนังสือให้ความยินยอม ก็เป็นการเพียงพอแล้วที่ตนจะปลอดภัยจากโทษปรับ หรือการรับผิดในความเสียหายต่าง ๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การที่ธุรกิจใด ๆ จะปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างครบถ้วนมีหลาย ๆ องค์ประกอบด้วยกันนับตั้งแต่ การรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูล การสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดในหมู่ของผู้บริหารรวมไปถึงพนักงาน 

PDPA, personal data protection

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับวงจรชีวิตของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับธุรกิจของตัวเอง การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือจะให้มีนโยบายต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

การจะทำให้องค์กรของท่านปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการที่ต้องทำและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ท่านยังคงมีความเกี่ยวข้องหรือมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ตลอดเวลานะครับ งั้นก็หมายถึงการที่ท่านจะต้องมีการตรวจทาน รีวิว กระบวนการขั้นตอนการทำงานและปฏิสัมพันธ์ของท่านต่อข้อมูลส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่องและนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์วิเคราะห์ ปรับปรุงกระบวนการทำงานรวมไปถึงเอกสารตามกฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องครับ

IP law, IP for business

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาใกล้ตัวทุกๆท่านในฐานะเจ้าของธุรกิจมากกว่าที่ท่านคิดเอาไว้มากมายนะครับ หลายๆคนอาจจะคิดว่ากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เป็นเรื่องของสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมเท่านั้น แต่ด้วยเหตุที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยพื้นฐานแล้วเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ การค้นพบ การแก้ปัญหา รวมไปถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ในทางการค้าต่าง ๆ ทำให้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของท่านเป็นอย่างมากครับ ยกตัวอย่างความเกี่ยวข้องของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาต่อธุรกิจของท่าน เช่น ในการที่ท่านจะขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าของท่าน ก็จำเป็นต้องสร้างสิ่งที่ลูกค้าสามารถจดจำท่านได้ซึ่งในทางธุรกิจเราเรียกสิ่งนี้ว่าแบรนด์ ซึ่งแบรนด์เป็นสิ่งที่จะทำให้ลูกค้าจดจำสินค้าหรือบริการของท่านและนำไปสู่การซื้อสินค้าหรือบริการของท่าน

 กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาได้กำหนดเอาไว้ว่าบรรดาเครื่องหมาย คำ หรือรูปภาพใดๆที่นำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าสินค้าหรือบริการของท่านแตกต่างไปจากสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่นให้ถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้า ซึ่งเมื่อได้ดำเนินการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว กฎหมายได้ให้อำนาจเจ้าของเครื่องหมายการค้าในการใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าได้แต่เพียงผู้เดียว นั่นหมายความว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถที่จะห้ามมีให้บุคคลอื่นนำเอาเครื่องหมายการค้าของตนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตนอกจากนี้ยังมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายเอากับคนที่นำเครื่องหมายการค้าของตนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

เมื่อท่านมีแบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าแล้วท่านก็ต้องทำการเผยแพร่ ทำโฆษณา เพื่อให้คนมารู้จักแบรนด์และสินค้าของท่าน 

ในปัจจุบันนั่นก็คือการทําคอนเทนต์ต่าง ๆ เช่น บทความ โพสต์ที่นำไปลงตามสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ แต่ Content เหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเองนี่สิครับ ท่านจำเป็นต้องลงทุนจ้างผู้อื่นเพื่อสร้าง Content ขึ้นมาหรือก็ต้องลงมือสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ซึ่งหากท่านเคยทำสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเองก็จะเห็นด้วยกับผมว่ามันไม่ง่ายเลย เพราะการทำคอนเทนต์ไม่ใช่ว่าสักแต่เขียนหรือทำรูปไปเรื่อยเปื่อย มันมีขั้นตอน วิธีคิดเงื่อนไขอีกมากมายเพื่อทำให้ Content เหล่านี้สามารถทำงานได้ตามที่เราต้องการ ซึ่งงานเขียน หรืองานที่เกี่ยวข้องกับการทำ รูปประกอบ Content เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอีกด้วยนะครับ

ตัวอย่างอีกประการหนึ่งของบทบาทที่ทรัพย์สินทางปัญญามีต่อธุรกิจของท่านนั่นก็คือในฐานะการคุ้มครองตามกฎหมายของบรรดาการค้นพบ หรือการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคมีซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าของท่านตัดสินใจจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการของท่าน ซึ่งหลายครั้งการค้นพบ การแก้ปัญหาเหล่านี้ก็มาในรูปของสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สามารถรับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรได้ หากเมื่อได้รับจดทะเบียนแล้ว เจ้าของสิทธิบัตรก็สามารถที่จะห่วงกันหรือฟ้องร้องเอาผิดและเรียกค่าเสียหายเอาจากคนที่นำสิ่งประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตได้อีกด้วย

สิ่งเหล่านี้ทั้งเครื่องหมายการค้า งานอันมีลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร รวมถึงความลับทางการค้า ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิน ของธุรกิจของท่านเป็นทรัพย์สินประเภทจับต้องไม่ได้ ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้มีผลต่อมูลค่าของธุรกิจของท่าน และยิ่งไปกว่านั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านได้เปรียบคู่แข่งทางการค้าของท่านด้วยเหตุที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้อำนาจเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในการห้ามไม่ให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินทางปัญญาของท่านไปใช้ หรือหากผู้ใดต้องการใช้ท่านก็มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการเรียกให้คนที่ต้องการใช้นั้นจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ท่านอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว ทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อได้มีการคุ้มครองและบริหารจัดการอย่างถูกต้อง ยังสามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการขยายธุรกิจของท่านได้อีกด้วยนะครับ ยกตัวอย่างเช่น การขายแฟรนไชส์ ซึ่งโดยเนื้อแท้เป็นการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้าของท่านและเป็นการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้การแก้ปัญหาหรือสิ่งประดิษฐ์หรือความลับทางการค้าของท่านอันคุ้มครองโดยกฎหมายสิทธิบัตรและกฎหมายความลับทางการค้านั่นเองครับ

การสร้างสรรค์ content เพื่องานการตลาดหรือการแก้ปัญหาที่ผู้บริโภคหรือลูกค้ามี ไม่ใช่ว่าทำไปเรื่อยเปื่อย แต่ต้องมีกระบวนการคิด วิเคราะห์ และสร้างสรรค์ ซึ่งในกระบวนการนี้มีต้นทุนทั้งเวลาและแรงงาน กฎหมายจึงถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า และคู่ควรแก่การคุ้มครอง นั่นคือ “ทรัพย์สินทางปัญญา”

IP law, IP for business

จะเห็นได้ว่า กฎหมายต่างๆไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ใกล้ตัวท่านมากกว่าที่ท่านคิดเอาไว้มากมายนะครับ หากท่านในฐานะผู้ประกอบการไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายเลย หรือมีอย่างไม่เพียงพอ ธุรกิจของท่านก็มีความเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย โดนค่าปรับ หรือโดนดำเนินคดีได้อีกด้วยนะครับ 

ซึ่งแน่นอนว่า ท่านก็ต้องเสียเวลา เงิน และสติปัญญาเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดมากจากความไม่รู้อันนี้ ซึ่งทรัพยากรทั้งเวลา เงิน และสติปัญญาที่จะต้องมาทุ่มเทเพื่อการแก้ไขปัญหา ก็เป็นทรัพยากรที่ท่านไม่สามารถนำไปทุ่มเทเพื่อการพัฒนาหรือการดำเนินธุรกิจของท่านได้อย่างเต็มที่ และยิ่งไปกว่านั้นท่านอาจจะพลาดโอกาสในการขยายธุรกิจได้อีกด้วยนะครับ 

ต้องอย่าลืมว่าในการทำธุรกิจหากสินค้าหรือบริการของท่านได้รับการยอมรับจากลูกค้าหรือผู้บริโภค ย่อมจะต้องมีคู่แข่งเข้ามาพยายามที่จะแข่งขันกับท่านอยู่เสมอ การที่ท่านมีความพร้อมด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วนหรืออย่างน้อยมากกว่าคู่แข่ง โอกาสที่ท่านจะชนะในสนามการแข่งขันทางธุรกิจก็ย่อมมีสูงกว่ามากครับ

สุดท้ายนี้ ผมอยากขอฝากข้อคิดเอาไว้ว่า ความรู้เป็นเรื่องที่หาไม่ยาก แต่มูลค่าของความไม่รู้ต่างหากที่สูงลิ่ว อย่าปล่อยให้ความไม่รู้กฎหมายเป็นภัยเงียบคุกคามธุรกิจของท่าน ติดตามเนื้อหาดีๆเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อผู้ประกอบการได้ที่เพจ Facebook ของเราหรือกด Subscribe ด้านล่างนี้เพื่อปรับเนื้อหา ความรู้ และเทคนิคดีๆในการจัดการงานกฎหมายของท่านให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเราเป็นประจำได้นะครับ


Newsletter subscriptionTH (#13)